วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เขาทราย เเกเเล็คซี่

เขาทราย แกแล็คซี่ (อังกฤษ: Khaosai Galaxy) อดีตนักมวยแชมเปี้ยนโลกชาวไทย รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท (115 ปอนด์) ของ สมาคมมวยโลก (WBA) เป็นแชมป์โลกคนที่ 9 ของไทย มีชื่อจริงว่า นายสุระ แสนคำ ได้รับสมญานามว่า "ซ้ายทะลวงไส้" เขาทราย แกแล็กซี่ ยังมีพี่ชายฝาแฝด ซึ่งเป็น อดีตแชมป์โลกเช่นเดียวกันคือ เขาค้อ แกแล็คซี่ หรือ นายวิโรจน์ แสนคำ อดีตแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวท WBA โดยมีระยะเวลาที่เป็นแชมป์โลกคู่กัน ซึ่งทำให้นับเป็นแชมป์โลกคู่แฝดรายแรกของโลกอีกด้วย
หลังครองตำแหน่งเขาทรายสามารถป้องกันตำแหน่งได้ถึง 19 ครั้งติดต่อกัน นับเป็นสถิติโลกสูงสุด ในรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวทถึงปัจจุบัน และเป็นสถิติสูงสุดอันดับ 3 ในการป้องกันแชมป์โลกทุกรุ่นในขณะนั้น มีสถิติป้องกันตำแหน่งโดยชนะน็อค 16 ครั้ง ชนะคะแนนเพียง 3 ครั้ง และได้ประกาศแขวนนวมในฐานะ แชมป์โลกผู้ไม่เคยแพ้ใคร ตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่ง 2,628 วัน หรือ 7 ปี 2 เดือน 30 วัน
ในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) เขาทรายได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ "World Boxing Hall of Fame" จากสมาคมมวยโลก โดยได้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศนักมวยโลก ณ เมืองคานาสโตต้า (Canastota) มลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยสถิติการชก 50 ครั้ง ชนะ 49 ครั้ง โดยชนะน็อคถึง 43 ครั้ง คิดเป็นสถิติชนะด้วยการน็อคเอ้าท์ถึง ร้อยละ 87.75 และเคยแพ้คะแนนเพียงครั้งเดียว การชนะน็อคถึง 43 ครั้ง ยังนับเป็นสถิติโลกสูงสุด ในรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท (ซูเปอร์ฟลายเวท) จนถึงปัจจุบันอีกด้วย
Khaosai.jpg
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อจริงสุระ แสนคำ
ฉายาซ้ายทะลวงไส้
วันเกิด15 พฤษภาคม พ.ศ. 2502
สถานที่เกิดFlag of ไทย จังหวัดเพชรบูรณ์
รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท
ผู้จัดการนิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์
เทรนเนอร์พงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร
สถิติ
ชก50
ชนะ49
ชนะน็อก43
แพ้1
เสมอ0


วัยเด็ก
เขาทรายเป็นบุตรของนายขัน แสนคำ และนางคำ แสนคำ เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 ที่หมู่บ้านเฉลียงลับ ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ จบการศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเฉลียงลับวิทยา ชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนประสิทธิวิทยา และระดับอาชีวศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากโรงเรียนเทคนิคเพชรบูรณ์

 การชกมวยไทย

ด.ช.สุระ แสนคำ เริ่มหัดชกมวยไทยครั้งแรกกับ ครูปราการ วรศิริ ขณะมีอายุได้ 14 ปี ด้วยน้ำหนักตัว 40 ปอนด์ ขึ้นชกมวยไทยอาชีพครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2515 ใช้ชื่อว่า "ดาวเด่น เมืองศรีเทพ" โดยมี ครูมานะ พรหมประสิทธิ์ เป็นเทรนเนอร์ ตระเวนชกในจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีปัญหาในการชกมวยไทยเนื่องจากเสียเปรียบความสูง ทำให้ต้องลดน้ำหนักมากเพื่อชกกับมวยรุ่นเล็กกว่า เป็นสาเหตุให้หลายครั้งหมดแรงไม่สามารถชกมวยไทยได้ดีเท่าที่ควร
ในการชกมวยไทยอาชีพครั้งสุดท้ายกับ กังสดาล ส.ประทีป ต้องคุมน้ำหนักเพื่อชกในพิกัดรุ่น 108 ปอนด์ ทั้งที่ขนาดร่างกายต้องอยู่รุ่น 118 ปอนด์ แต่เพราะตัวเตี้ยเสียเปรียบจึงต้องชกในรุ่นต่ำกว่าเพื่อให้ได้คู่ชกที่ความสูงใกล้เคียงกัน การลดน้ำหนักครั้งนั้นทำให้หมดแรงและแพ้คะแนนขาดลอย นับเป็นการชกที่เจ็บตัวที่สุดในชีวิต แม้จะมีปัญหาเรื่องความสูงและต้องลดน้ำหนักอยู่เสมอ แต่ก็ยังมีสถิติการชกมวยไทยดีพอสมควรเนื่องจากพลังหมัดที่หนักหน่วง จากการชกมวยไทยรวม 54 ครั้ง สามารถชนะ 43 ครั้ง (น็อค 30 ครั้ง) แพ้ 8 ครั้ง และเสมอ 3 ครั้ง
หลังการชกกับ กังสดาล ส.ประทีป นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ (แชแม้) โปรโมเตอร์ชื่อดังที่ชักชวนให้มาชกที่กรุงเทพฯ ในชื่อ "เขาทราย วังชมภู" (ต่อมาเปลี่ยนชื่อหลังตามชื่อค่ายว่า "แกแล็คซี่" ซึ่งเป็นชื่อกิจการของนักธุรกิจชื่อดังคือ นายอมร อภิธนาคุณ) ได้สนับสนุนให้เขาทรายเปลี่ยนมาชกมวยสากลอาชีพ นับเป็นการเริ่มต้นตำนานแชมป์โลกของ เขาทราย แกแล็กซี่

 การชกมวยสากล

ชีวิตการชก มวยไทย ของเขาทราย ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนได้รับการปรามาส จากแฟนมวยว่า "เขาควาย" จึงเบนเข็มมาชกมวยสากล โดยฝึกมวยสากลจาก "ครูเฒ่า-ชนะ ทรัพย์แก้ว" และ "เกา คิม หลิน-ทวิช จาติกวณิช" และเมื่อเป็นแชมป์โลกเปลี่ยนมาเป็น "โกฮง-พงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร"
เมื่อเปลี่ยนมาชกมวยสากลเขาทรายสามารถชนะน็อค ด้วยหมัดซ้ายติดต่อกัน 5 ครั้ง ชนะคะแนนอีก 1 ครั้ง เขาทรายมีโอกาสได้ขึ้นชิงแชมป์เวทีราชดำเนินรุ่นแบนตั้มเวทกับศักดา ศักดิ์สุรีย์ แชมป์ในขณะนั้น เมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ก่อนการชก ทุกฝ่ายมั่นใจว่าเขาทรายน่าจะเป็นฝ่ายชนะน็อคได้ไม่ยาก เพราะศักดาน้ำหนักเกินรุ่นแบนตั้มเวทไปมาก ถึงวันชั่งน้ำหนักยังต้องอบตัวและออกวิ่งกว่าจะทำน้ำหนักตามพิกัดได้ เมื่อขึ้นเวทีชกกันจริงๆ ปรากฏว่าเขาทรายเข้าไม่ติด ไม่สามารถใช้หมัดซ้ายชกศักดาได้จังๆเพราะเสียเปรียบช่วงชกมาก ศักดาใช้ช่วงชกที่ได้เปรียบชกทำคะแนนนำไปก่อนแม้จะอ่อนแรงในยกท้ายๆและถูกเขาทรายต่อยจนแตกทั้งสองคิ้ว เมื่อเขาทรายชกศักดาลงไปให้กรรมการนับสิบไม่ได้ ครบสิบยก ศักดาจึงเป็นฝ่ายชนะคะแนนไป [1]
หลังจากชกแพ้ในครั้งนั้น นิวัฒน์ผู้จัดการจัดให้เขาทรายชกกับทสึกูยูกิ โตฟา นักมวยสากลชาวญี่ปุ่นเป็นการแก้หน้าในครั้งต่อมา ซึ่งเขาทรายเป็นฝ่ายชนะน็อคได้ในยกที่ 4 และในการชกครั้งต่อมาเขาทรายชนะน็อก ศักดิ์สมัย ช.ศิริรัตน์ ได้ครองแชมป์ แบนตั้มเวท เวทีมวยราชดำเนิน ที่ว่างอยู่เนื่องจากศักดาสละแชมป์ไป และนับจากชกชนะทสึกูยูกิ เขาทรายไม่เคยแพ้ใครอีกเลยจนได้ชิงแชมป์โลก
หลังได้ครองแชมป์แบนตั้มเวท ราชดำเนิน เขาทรายลดรุ่นลงมาชกในรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท สามารถชกชนะติดต่อกัน 17 ครั้ง โดยเป็นการชนะน็อคถึง 15 ครั้ง รวมทั้งชนะน็อค วิลลี่ เจนเซ่น (Willie Jensen) รองแชมป์โลกจูเนียร์แบนตั้มเวท ได้ขึ้นชิงแชมเปี้ยนโลก รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวทที่ว่างลง ของสมาคมมวยโลก(WBA) กับ ยูเซปีโอ เอสปีนัล (Eusebio Espinal) นักชกชาวโดมินิกัน ที่เวทีมวยราชดำเนิน และสามารถชนะน็อคได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนโลก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 และยังทำสถิติป้องกันแชมป์ได้ติดต่อกันถึง 19 ครั้ง มากที่สุด ในบรรดาแชมป์โลกชาวไทย และทวีปเอเชีย โดยทำลายสถิติเดิมของ ชาง จุง กู นักมวยสากลชาวเกาหลีใต้ ที่ป้องกันได้ 15 ครั้ง และเป็นสถิติโลก ในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) ด้วย เทียบเท่ากับ ยูเซปิโอ เปรโดซ่า อดีตแชมป์โลก รุ่นเฟเธอร์เวท WBA ที่ทำสถิติป้องกันแชมป์เอาไว้ถึง 19 ครั้งเท่ากัน โดยเขาทรายทำสถิติการชกไว้ทั้งหมด 50 ครั้ง ชนะ 49 ครั้ง โดยชนะน็อกถึง 43 ครั้ง แพ้คะแนนเพียง 1 ครั้ง และในการป้องกันแชมป์ 19 ครั้ง เป็นการชนะน็อกถึง 16 ครั้ง มีเพียง 3 ครั้งที่ชนะคะแนน
เขาทราย แกแล็คซี่ นับว่าเป็นนักมวยที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล ในสมัยที่ยังชกมวยอยู่ ได้รับฉายาจากแฟนมวยว่า "ซ้ายทะลวงไส้" จากหมัดซ้ายที่หนักหน่วง และการชกลำตัวที่ยอดเยี่ยม เป็นนักมวยที่ไปชกป้องกันตำแหน่งนอกประเทศหลายครั้ง รวมทั้งเคยป้องกันกับนักมวยชาวไทยด้วยกัน คือ ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ และแทบทุกครั้งของการชก เขาทรายจะได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ความนิยมในตัวเขาทรายมีถึงขนาดที่ว่า เมื่อใดที่เขาทรายชก ถนนในกรุงเทพฯ จะว่าง เพราะทุกคนรีบกลับบ้านไปดูเขาทราย

 ชีวิตหลังแขวนนวม

เขาทราย แกแล็คซี่ ขณะออกเทปร่วมกับสามารถ พยัคฆ์อรุณ และ สมรักษ์ คำสิงห์ อัลบั้ม 3 หมัด สะบัดไมค์ (พ.ศ. 2546)
ชนะน็อกยก 6 ยูเซบิโอ เอสปินัล ได้ครองแชมป์โลก
ชนะน็อกยก 14 เอลลี่ ปิกัล ที่อินโดนีเซีย
หลังแขวนนวม เขาทรายออกอัลบั้มเพลงมาชุดหนึ่ง เพื่อเป็นการขอบคุณแฟน ๆ ที่ให้การสนับสนุน ชื่อชุด "ขอบคุณครับ" และมีพิธีมงคลสมรส กับหญิงสาวชาวญี่ปุ่น "ยูมิโกะ โอตะ" ที่พบกันในการป้องกันตำแหน่งที่นั่นโดยมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีที่จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 แต่ได้หย่าขาดกันในเวลาต่อมา ปัจจุบัน เขาทรายมีธุรกิจส่วนตัวมากมาย เช่น ร้านหมูกระทะ โต๊ะสนุกเกอร์ และรับงานแสดงในวงการบันเทิงเป็นครั้งคราวด้วย
เขาทราย เป็นนักมวยที่ได้รับการกล่าวขานมาก จนอาจเรียกว่าเป็นนักกีฬาชาวไทยที่ได้รับเกียรติยศมากที่สุดก็ว่าได้ เช่น ได้รับรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมหลายครั้ง ได้รับการยกย่องจากหลายวงการไม่เฉพาะวงการกีฬา ได้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของ WBA ในปี พ.ศ. 2542, ในหอเกียรติยศในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กีฬาไทยของการกีฬาแห่งประเทศไทย และได้รางวัลนักกีฬาขวัญใจมหาชน จากการโหวตของแฟนกีฬาชาวไทยของบริษัทสยามสปอร์ต จำกัด ในปี พ.ศ. 2550 ทั้งที่เขาทรายแขวนนวมไปแล้วเกือบ 20 ปี[2]
อีกทั้งยังเป็นนักมวยรายแรกด้วย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ประเพณีการมอบทองและของรางวัล ก่อนการชกบนเวที ซึ่งเริ่มมาจาก การป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 9 ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยครั้งนั้นมีนายวัฒนา อัศวเหม เป็นประธานจัด ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มของการจัดชกมวยของนักการเมืองด้วย
ในทางการเมือง เขาทรายเข้าเป็นสมาชิก พรรคเพื่อแผ่นดิน และลงสมัครเลือกตั้งในระบบสัดส่วน ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ชีวิตส่วนตัวในปัจจุบัน เขาทรายมีบ้านพักที่ย่านนวลจันทร์ ถนนรามอินทรา โดยมี นางสุรีรัตน์ แสนคำ เป็นภรรยาในปัจจุบัน มีบุตรสาว 1 คน มีกิจการร้านหมูกระทะ โต๊ะสนุกเกอร์ หลังคารถกระบะ และกิจการค้าขายทางด้านเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรที่จังหวัดสระบุรี งานอดิเรกของเขาทรายในยามว่าง คือ การปลูกผักสวนครัวเพื่อรับประทานเองในครอบครัว ไว้ในที่ดินที่บ้านพัก [3]
ส่วนในวงการมวย ยังทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ให้กับนักมวยในสังกัดของนิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ อดีตผู้จัดการ เช่น เด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม และ พูนสวัสดิ์ กระทิงแดงยิม เป็นต้น

ประวัติการชกมวยสากลอาชีพ


คู่ชกของ เขาทราย แกแล็กซี่ ทั้งที่เคยเป็นแชมป์โลกมาก่อน และได้เป็นแชมป์โลกในเวลาต่อมามีทั้งหมด 8 ราย คือ
  • ปาร์ค ชาน ยอง (Park Chang Yong) คู่ชกอุ่นเครื่อง ต่อมาได้แชมป์โลก รุ่นแบนตัมเวท (115 ปอนด์) WBA
  • ราฟาเอล โอโรโน่ (Rafael Orono) อดีตแชมป์โลก รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท (115 ปอนด์) WBA สองสมัย
  • อิสราเอล คอนเทรรัส (Israel Contreras) ต่อมาได้แชมป์โลก รุ่นแบนตัมเวท (118 ปอนด์) WBO และ WBA
  • เอลลี่ ปิกัล (Ellyas Pical) อดีตแชมป์โลก รุ่น 115 ปอนด์ IBF 2 สมัย และต่อมาได้แชมป์ รุ่น 118 ปอนด์ IBF
  • ชาง โฮ ชอย (Chang Ho Choi) อดีตแชมป์โลก รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) IBF
  • แต อิล ชาง (Tae-Il Chang) อดีตแชมป์โลก รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท (115 ปอนด์) IBF
  • คิม ยอง กัง (Kim Yong Kang) อดีตแชมป์โลก รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) WBC และต่อมาได้แชมป์รุ่นฟลายเวท WBA
  • เดวิด กรีแมน (David Griman) ต่อมาได้แชมป์โลก รุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) WBA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น